การทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างใหญ่หลวง โดย 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ปรากฏไทยมีการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 7.12% หรือคิดเป็นมูลค่า 37,569.89 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีน-19,967.46 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 7.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.66% จากปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้ารวม 104,964 ล้านเหรียญ โดยไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านเหรียญ และนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านเหรียญ หรือไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจีน 36,635 ล้านเหรียญ
สถานการณ์การขาดดุลการค้ากับจีนที่ย่ำแย่ลง แสดงให้เห็นว่าสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยทุกทิศทุกทาง ทั้งการค้าปกติ การค้าบริการ และการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางการค้าประเภทหลังได้สร้างความตื่นกลัวกับการเข้ามาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน
และเริ่มที่จะทำตลาดในประเทศไทยด้วยสโลแกนที่ว่า “Shop Like a Billionaire” หรือทุกคนสามารถซื้อของได้ในราคาที่ถูกมาก ๆ เหมือนมหาเศรษฐี โดยมีจุดเด่นที่การนำเสนอสินค้าหลากหลายจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงที่ไม่ผ่านคนกลาง ราคาจึงต่ำกว่า
แน่นอนว่าสินค้าบนแพลตฟอร์มของยักษ์ใหญ่นั้น ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดผลิตจากโรงงานในจีนที่พร้อมจะส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ แต่กรณีนี้นอกเหนือจากการทำตลาดสินค้าราคาถูกในจีนเองแล้ว ยังเป็นการทำสงครามราคาที่ถูกมาก ๆ ในสมรภูมิตลาดต่างประเทศด้วย โดยเป็นการเสนอราคาขายที่ถูกที่สุดของโรงงานจีนให้กับผู้บริโภค
Advertisment
การทำการตลาดดังกล่าวจึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับโรงงานผลิตสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดที่ยักษ์ใหญ่จากจีนเข้าไปทำการตลาด ซึ่งจะตามมาด้วยการไม่สามารถแข่งขันได้ของโรงงานท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานของผู้ผลิตกลุ่ม SMEs
นอกจากปรากฏการณ์การบุกเข้าสู่ตลาดสินค้าออนไลน์ของแพลตฟอร์ม e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีนแล้ว การเข้ามาของผู้ประกอบการจีนในการค้าบริการประเภทอื่น ๆ ยังเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารแบรนด์จีนที่พาเหรดเข้ามาเปิดร้านในประเทศไทย เดือนหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10-20 สาขา การทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรราคาถูกตามแนวชายแดน เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกที่วางขายกันไปทั่ว รวมไปถึงการเข้ามาเป็นนายทุนเจ้าของร้านขายส่งในตลาดขายส่งครบวงจรขนาดใหญ่ของประเทศด้วย
ปรากฏการณ์สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ไทยมากมายอย่างผิดปกติอย่างนี้ รัฐบาลจักต้องตระหนักและหาช่องทางสกัดกั้นด้วยการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ขัดกับความตกลง WTO อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรการทุ่มตลาด การบังคับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ความปลอดภัยของอาหาร เข้มงวดในการนำเข้าผ่านเขตปลอดอากรคลังทัณฑ์บน ตรวจสอบ “นอมินี” การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว รวมไปถึงการพัฒนายกระดับเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานผู้ผลิตสินค้าในประเทศอย่างจริงจังด้วย
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ